หน่วยที่ 1 หลักการทำโครงงานคอมพิวเตอร์

หลักการทำโครงงานคอมพิวเตอร์
ความสำคัญและประเภทของโครงงานคอมพิวเตอร์
โครงงานคอมพิวเตอร์ คือ ผลงานที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าตามความสนใจ ความถนัดและความสามารถของผู้เรียน โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ โครงงานจึงเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยผู้เรียนจะหาหัวข้อโครงงานที่ตนเองสนใจ รวมทั้งเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ และความรู้ด้าน   คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสร้างผลงานตามความต้องการได้อย่างเหมาะสม โดยมีครูเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำ
โครงงานคอมพิวเตอร์ เป็นการนำคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่นที่มีอยู่ไปใช้ในการศึกษา ทดลอง แก้ปัญหาต่างๆ เพื่อนำผลที่ได้มาประยุกต์ใช้งานจริง ผู้เรียนสามารถเลือกหัวข้อตามความสนใจ โดยใช้ทักษะและ   ประสบการณ์ของผู้เรียนด้านคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ในการแก้ปัญหา
ความสามารถที่เกิดจากการทำโครงงานคอมพิวเตอร์
โครงงานคอมพิวเตอร์เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนเกิดความสามารถในด้านต่างๆ ที่สำคัญ 5 ประการ ดังนี้
1. ความสามารถในการสื่อสาร เป็นความสามารถที่เกิดจากการที่นักเรียนผู้ทำโครงงานต้องนำเสนอผลงานให้ครูและเพื่อนนักเรียนให้เข้าใจโครงงานคอมพิวเตอร์ได้อย่างชัดเจน ดังนั้น ผู้ทำโครงงานต้องสื่อสารความคิดในการสร้างสรรค์โครงงานด้วยการเขียน หรือด้วยปากเปล่า รวมทั้งเลือกใช้รูปแบบของสื่ออย่างมีประสิทธิภาพเพื่อนำเสนอแนวคิดในการจัดทำโครงงานให้ผู้อื่นได้เข้าใจ
2. ความสามารถในการคิด ซึ่งผู้เรียนจะมีการคิดในลักษณะต่างๆ ดังนี้
               2.1 การคิดวิเคราะห์เกิดจากการที่ผู้เรียนต้องวิเคราะห์ปัญหาและแยกแยะสาเหตุว่าเกิดเนื่องจากอะไร
      2.2 การคิดสังเคราะห์ เกิดจากการที่ผู้เรียนต้องนำความรู้ต่างๆ ที่เรียนมารวมทั้งความรู้จากการค้นหาข้อมูลเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาหรือการสร้างสรรค์โครงงาน
      2.3 การคิดอย่างสร้างสรรค์ เกิดจากการที่ผู้เรียนนำความรู้มาสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ
      2.4 การคิดอย่างมีวิจารณญาณ เกิดจากการที่ผู้เรียนได้มีการคิดไตร่ตรองว่าควรทำโครงงานใดและไม่ควรทำโครงงานใด เนื่องจากโครงงาน ที่สร้างขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมเช่น โครงงานระบบคำนวณเลขหวย สำหรับหาเลขที่คาดว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลจะออกในแต่ละงวด อาจส่งผลกระทบต่อสังคม ทำให้คนในสังคมเกิดความหมกมุ่นกับการใช้เงินเล่นหวยมากขึ้น
      2.5 การคิดอย่างเป็นระบบ เกิดจากการที่ผู้เรียนคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน โดยใช้ขั้นตอนในการพัฒนาโครงงาน คือ ผู้เรียนเป็นผู้วางแผนในการศึกษา ค้นคว้า เก็บรวบรวมข้อมูลพัฒนา หรือประดิษฐ์คิดค้น ผลงาน รวมทั้งการสรุปผลและการเสนอผลการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง โดยมีผู้สอนและผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้ให้คำปรึกษา
3. ความสามารถในการแก้ปัญหา เกิดจากการที่ผู้เรียนวิเคราะห์ปัญหา เข้าใจ และอธิบายปัญหาทางด้านคอมพิวเตอร์ รวมทั้งประยุกต์ความรู้ ทักษะ และการใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหา
4. ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต เกิดจากการที่ผู้เรียนได้นำความรู้และกระบวนการต่างๆ ไปใช้ในการพัฒนาโครงงาน และนำไปประยุกต์ใช้ใน   ชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการพัฒนาโครงงานก่อให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง อันนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต
5. ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เกิดจากการที่ผู้เรียนสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และมีคุณธรรม
ประเภทของโครงงานคอมพิวเตอร์
โครงงานคอมพิวเตอร์มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้รู้จักวิธีการออกแบบ เริ่มตั้งแต่กำหนดคุณสมบัติของสิ่งที่ต้องการออกแบบ การรู้จักเลือกใช้เทคโนโลยีต่างๆ และมีความคิดสร้างสรรค์โครงงานคอมพิวเตอร์สามารถแบ่งได้ 5 ประเภท ดังนี้
1. โครงงานพัฒนาสื่อเพื่อการศึกษา
สื่อเพื่อการศึกษาหรือสื่อการเรียนรู้ หมายถึง เครื่องมือสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเข้าถึงความรู้ ทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ สื่อการเรียนรู้มีหลายประเภท ทั้งสื่อธรรมชาติ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อเทคโนโลยีและเครือข่าย         การเรียนรู้ต่างๆ ที่มีในท้องถิ่น การเลือกใช้สื่อควรเลือกให้มีความเหมาะสมกับระดับพัฒนาการและความสามารถของผู้เรียน ตัวอย่างโครงงานพัฒนาสื่อเพื่อการศึกษา มีดังนี้ การเคลื่อนที่แบบโปรเจ็กไตล์ ระบบสุริยจักรวาล ตัวแปรต่างๆ ที่มีผลต่อการชำกิ่งกุหลาบ หลักภาษาไทย และสถานที่สำคัญของประเทศไทย เป็นต้น
2. โครงงานพัฒนาเครื่องมือ
เครื่องมือ หมายถึง ฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์โครงงานพัฒนาเครื่องมือ หมายถึง โครงงานเพื่อสร้างฮาร์ดแวร์ เช่น ฮาร์ดดิสก์ขนาดเล็กที่มีความจุข้อมูลสูงหรือการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ช่วยงานด้านต่างๆ เช่น ซอฟต์แวร์ด้านการประมวลผลคำสามารถจัดทำเอกสาร และจัดรูปแบบงานตามความต้องการ
3. โครงงานทดลองทฤษฎี
โครงงานทดลองทฤษฎีเป็นโครงงานที่พิสูจน์ทฤษฎีหรือตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยใช้คอมพิวเตอร์จำลองสถานการณ์ต่างๆ ที่ผู้ทดลองไม่สามารถทดลองในสถานการณ์จริงได้ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ทดลอง โครงงานนี้ผู้ศึกษาต้องรวบรวมทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง และเสนอแนวคิดเป็นแบบจำลอง จากนั้นให้คอมพิวเตอร์ประมวลผลจากแบบจำลองที่เป็นสูตรหรือสมการแล้วคอมพิวเตอร์จึงแสดงผลเป็นภาพเพื่อให้ผู้ทดลองเข้าใจได้ง่ายขึ้นตัวอย่างโครงงานทดลองทฤษฎี เช่น โครงงานประเมินความเสียหายจากแผ่นดินไหว โดยการคำนวณความเสียหายตามขนาดแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้น โดยจะประเมิน และแสดงตำแหน่งอาคารที่อาจจะถล่มลงมา รวมทั้งจุดที่อาจจะมีผู้บาดเจ็บจากอาคารถล่มอย่างเป็นขั้นตอน
4. โครงงานประยุกต์ ใช้งาน
โครงงานประยุกต์ใช้งานเป็นโครงงานที่นำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ดิจิทัลมาศึกษาระบบการทำงาน และนำความรู้ที่ศึกษาไปประยุกต์ใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น โครงงานหุ่นยนต์จำลองเก็บขยะ เป็นโครงงานที่เกิดจากการที่นักเรียนได้ศึกษาโครงสร้างหุ่นยนต์ การทำงาน และการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ เพื่อควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์ และนำความรู้ที่ได้มาเขียนโปรแกรมประยุกต์ให้หุ่นยนต์จำลองเก็บขยะ
5. โครงงานพัฒนาโปรแกรมประยุกต์
โครงงานพัฒนาโปรแกรมประยุกต์นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ศึกษาได้ศึกษาความต้องการของผู้ใช้งาน และออกแบบโปรแกรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างเหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ที่ใช้ในองค์กรทางธุรกิจ และโปรแกรมเกม ดังนั้น ผู้ศึกษาจะต้องเรียนรู้ระบบงานทางธุรกิจ และใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ในการพัฒนาโครงงาน
ตัวอย่างโครงงานพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ เช่น โครงงานพัฒนาการจัดเก็บเอกสารโดยผู้จัดทำต้องเรียนรู้ระบบจัดเก็บเอกสารของหน่วยงาน และสร้างโปรแกรมการจัดเก็บ การค้นหาและการพิมพ์เอกสารออกมาใช้งาน หรือโครงงานเกมที่ให้ความรู้ ความเพลิดเพลินโดยผู้จัดทำโครงงานจะต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเกมต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วไป และนำมาปรับปรุงหรือพัฒนาขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นเกมที่เหมาะสมกับผู้เล่นในแต่ละ

ขั้นตอนการพัฒนาโครงงาน
    การจัดทำโครงงานคอมพิวเตอร์ ถือเป็นกระบวนการในการทำโครงงานที่ต้องดำเนินการอย่างเป็นลำดับขั้นตอน เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดต่อการพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์ โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. การคัดเลือกหัวข้อโครงงาน
หัวข้อส่วนใหญ่ที่นำมาพัฒนาเป็นโครงงานคอมพิวเตอร์ มักจะได้มาจากปัญหา คำถาม หรือความสนใจในเรื่องต่างๆ การสังเกตสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ หรือสิ่งต่างๆ รอบตัวปัญหาที่จะนำมาพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์นั้นได้จากแหล่งที่ต่างกัน ได้แก่ การอ่านค้นคว้าจากหนังสือ เอกสาร หนังสือพิมพ์ หรือวารสารต่างๆ การไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ การฟังบรรยายทางวิชาการ รายการวิทยุและโทรทัศน์ ข้อมูลข่าวสารจากอินเทอร์เน็ต รวมทั้ง   การสนทนาอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเพื่อนนักเรียนหรือกับบุคคลอื่นๆ กิจกรรมการเรียนการสอนในโรงเรียน งานอดิเรกของนักเรียน การเข้า   ชมงานนิทรรศการหรืองานประกวดโครงงานคอมพิวเตอร์
2. การศึกษาค้นคว้าจากเอกสารและแหล่งข้อมูล
การศึกษาค้นคว้าจากเอกสารและแหล่งข้อมูล รวมถึงการขอคำปรึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิจะช่วยให้เกิดแนวคิดในการกำหนดขอบเขตของเรื่องที่จะศึกษา ได้เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้นและได้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่จะศึกษา จนสามารถใช้ออกแบบและวางแผนดำเนินการทำโครงงานนั้นได้อย่างเหมาะสมในการศึกษาค้นคว้าจากเอกสารและแหล่งข้อมูลจะต้องได้คำตอบว่า จะทำอะไร ทำไมต้องทำต้องการให้เกิดอะไร ทำอย่างไร ใช้ทรัพยากรอะไร ทำกับใคร และจะเสนอผลงานอย่างไร
3. การจัดทำข้อเสนอโครงงาน
การจัดทำข้อเสนอโครงงานเป็นการจัดทำเค้าโครงของโครงงานเพื่อเสนอครูที่ปรึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
3.1 ศึกษาค้นคว้าเอกสารอ้างอิง และรวบรวมข้อมูลที่ได้จากผู้ทรงคุณวุฒิ
3.2 วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อกำหนดขอบเขตและลักษณะของโครงงานที่จะพัฒนา
3.3 ออกแบบการพัฒนา มีการกำหนดลักษณะของเครื่องคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์และตัวแปล
3.4 กำหนดตารางการปฏิบัติงานของการจัดทำเค้าโครงของโครงงาน ลงมือทำโครงงาน และสรุปรายงานโครงงาน โดยกำหนดช่วงเวลาอย่างกว้าง ๆ
3.5 ทำการพัฒนาโครงงานขั้นต้น เพื่อศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น โดยอาจจะทำการพัฒนาส่วนย่อยๆ บางส่วน ตามที่ได้ออกแบบไว้แล้ว นำผลจากการศึกษาในช่วงนี้ไปปรับปรุงแผนการทดลองที่ออกแบบไว้ในครั้งแรกให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
3.6 เสนอเค้าโครงของโครงงานคอมพิวเตอร์ต่อครูที่ปรึกษา เพื่อขอคำแนะนำและปรับปรุงแก้ไขเพราะในการวางแผนการศึกษาพัฒนา ความคิดของนักเรียนอาจยังไม่ครอบคลุมทุกด้านเนื่องจากยังขาดประสบการณ์ จึงควรถ่ายทอดความคิดที่ได้ศึกษาและบันทึกไว้ให้ครูทราบเพื่อรับคำแนะนำ และนำไปปรับใช้ให้เกิดความเหมาะสม
4. การพัฒนาโครงงาน
เมื่อเค้าโครงของโครงงานได้รับความเห็นชอบจากครูที่ปรึกษาแล้ว ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการลงมือพัฒนาโครงงานตามขั้นตอนที่วางแผนไว้ เช่น จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อม รวมทั้งการกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบ ของสมาชิกในกลุ่มให้ชัดเจน แล้วจึงดำเนินการทำโครงงานขณะเดียวกันต้องมีการทดสอบ ตรวจสอบ ปรับปรุงแก้ไข เพื่อพัฒนาโครงงานเป็นระยะๆ เพื่อให้แน่ใจว่าผลงานที่พัฒนาขึ้นนั้น ทำงานได้ถูกต้องตรงกับความต้องการที่ระบุไว้ในเป้าหมาย และเกิดประสิทธิภาพตามขั้นตอน ดังนี้ 
4.1 การเตรียมการ ต้องเตรียมเครื่องคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และวัสดุอื่นๆ ที่จะใช้ในการสำหรับบันทึกการทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างทำโครงงาน ได้แก่ การดำเนินการเป็นอย่างไรได้ผลอย่างไร มีปัญหาและแก้ไขได้หรือไม่อย่างไร รวมทั้งข้อสังเกตต่างๆ ที่พบ
4.2 เพิ่มเติมได้ หากพบว่าจะช่วยทำให้ผลงานพัฒนาได้ดีขึ้น โดยจัดระบบการทำงานโดยทำส่วนที่เป็นหลักสำคัญให้เสร็จก่อน จึงค่อยทำส่วนที่เป็นส่วนประกอบหรือส่วนเสริม เพื่อให้โครงงานมีความสมบูรณ์มากขึ้น และถ้ามีการแบ่งงานกันทำให้ตกลงรายละเอียดในการเชื่อมต่อชิ้นงานที่ชัดเจนด้วย รวมทั้งต้องพัฒนาระบบงานด้วยความละเอียดรอบคอบ บันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบและครบถ้วน
4.3 การทดสอบผลงานและแก้ไข
4.4 การอภิปรายและข้อเสนอแนะ
4.5 แนวทางการพัฒนาโครงงานในอนาคตและข้อเสนอแนะ
5. การเขียนรายงานโครงงาน
การเขียนรายงาน เป็นวิธีการสื่อความหมายเพื่อให้ผู้อื่นได้เข้าใจแนวคิด วิธีดำเนินการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลที่ได้ ตลอดจนข้อสรุปและข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับโครงงานนั้น โดยในการเขียนรายงานนั้น ควรใช้ภาษาที่อ่านง่าย ชัดเจน กระชับ ตรงไปตรงมา รวมทั้งให้จัดทำคู่มือการใช้งานซึ่งประกอบด้วยรายละเอียด ดังนี้
5.1 ชื่อโครงงาน
5.2 ความต้องการของระบบคอมพิวเตอร์ ระบุรายละเอียดของคอมพิวเตอร์ที่ต้องมีเพื่อที่จะใช้กับโครงงานนั้น
5.3 ความต้องการของซอฟต์แวร์ ระบุรายชื่อซอฟต์แวร์ที่ต้องใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อจะให้โครงงานนั้นทำงานได้อย่างสมบูรณ์
5.4 คุณลักษณะของโครงงาน ซึ่งอธิบายว่าผลงานนั้นทำหน้าที่อะไรบ้าง รับอะไรเป็นข้อมูลขาเข้า และอะไรที่ออกมาเป็นข้อมูลขาออก
5.5 วิธีการใช้งานของแต่ละฟังก์ชัน อธิบายว่าจะต้องกดคำสั่งใด หรือกดปุ่มใด เพื่อให้ผลงานทำงานในฟังก์ชันหนึ่งๆ
6. การนำเสนอและแสดงโครงงาน
การนำเสนอและแสดงโครงงาน เป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากการพัฒนาโครงงานเสร็จเรียบร้อยตามเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ โดยเป็นการนำเสนอรายงานสรุปผลการดำเนินการงานนั้นๆ ซึ่งจัดเป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งของการทำโครงงาน เพื่อแสดงออกถึงผลิตผลทางความคิด ความพยายามในการทำงานที่ผู้ทำโครงงานได้ทุ่มเท และเป็นวิธีทำให้ผู้อื่นได้รับรู้
คุณลักษณะที่ดีของโครงงาน
คุณลักษณะของโครงงานที่ดีโครงงานที่ดีจะต้องมีคุณลักษณะ ดังนี้
1. สามารถตอบสนองความต้องการหรือแก้ปัญหาของโครงงานได้อย่างครบถ้วน
2. เป็นไปตามขอบเขตที่กำหนดไว้
3. สามารถดำเนินการเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้และเสร็จสิ้นตามระยะเวลาที่กำหนด
4. ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ
ในการทำโครงงานคอมพิวเตอร์ที่ดีจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับ และต้องมีคุณลักษณะที่ดีตามที่กล่าวข้างต้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบในทางลบที่อาจเกิดขึ้นจากการทำโครงงานซึ่งผู้จัดทำอาจต้องหลีกเลี่ยง โดยจะต้องคำนึงถึงผลกระทบทางลบในด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและวัฒนธรรม และด้านสิ่งแวดล้อม ดังตัวอย่างต่อไปนี้
          การประเมินผลโครงงาน
การประเมินผลโครงงานเป็นการวัดคุณภาพของผลงานว่ามีคุณภาพเพียงใด โดยอาศัยเกณฑ์ดังตารางด้านล่าง ทั้งนี้ นักเรียนควรทราบเกณฑ์สำหรับการประเมินผล เพื่อสร้างผลงานที่มีคุณภาพการเรียนรู้การจัดทำโครงงานนั้น จะทำให้ผู้เรียนได้นำความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ หลักการและกระบวนการที่ใช้ในการแก้ปัญหา หลักการเขียนโปรแกรมการวิเคราะห์และออกแบบโปรแกรม มาเป็นพื้นฐานในการสร้างความรู้ใหม่ โดยมีครูที่ปรึกษาให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง และทำให้ผู้เรียนเขียนรายงานสรุปได้อย่างมีขั้นตอน
1. คัดเลือกหัวข้อ
ความชัดเจนในหัวข้อโครงงาน
ความเข้าใจหัวข้อโครงงาน
2. ศึกษาค้นคว้าข้อมูล
ความถูกต้องของแนวคิด/ทฤษฎี
ความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล
3. ข้อเสนอโครงงาน
ความถูกต้องและสมบูรณ์ของข้อเสนอโครงงาน
การเชื่อมโยงขององค์ประกอบต่างๆ ของหัวข้อโครงงาน
4. พัฒนาโครงงาน
ความถูกต้องของการออกแบบ
ความสำเร็จของโครงงานตามกำหนดการ
ความถูกต้องของระบบงาน
การเข้าพบครูที่ปรึกษาอย่างสม่ำเสมอ
5. รายงานโครงงาน
ความถูกต้องและสมบูรณ์ของรายงานโครงงาน
การเชื่อมโยงขององค์ประกอบต่างๆ ของรายงานโครงงาน
การศึกษาผลกระทบของโครงงานคอมพิวเตอร์
โครงงานคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ที่พัฒนาขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมให้ดีขึ้น หากแต่มนุษย์จะเป็นผู้เลือกที่จะนำไปใช้ในทางที่ถูกหรือในทางที่ผิด ดังนั้น ผู้พัฒนาควรตระหนักในเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อคุณภาพชีวิตของคนในสังคม เพื่อหาแนวทางป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อคุณภาพชีวิตของคนในสังคมมีดังนี้
1. ด้านเศรษฐกิจ หมายถึง ผลงานของโครงงานกระทบกับการซื้อขาย การจับจ่ายใช้สอยและรายได้ของคนในสังคม
2. ด้านสังคมและวัฒนธรรม หมายถึง ผลงานของโครงงานกระทบกับวิถีการดำเนินชีวิต ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีของคนในสังคม
3. ด้านสิ่งแวดล้อม หมายถึง ผลงานของโครงงานกระทบกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่นป่าไม้ ภูเขา ดิน น้ำ อากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น